ข่าวสารรอบโลก

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมพัฒนางานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและการลักพาตัวเด็ก

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยจัดการประชุมเพื่อการพัฒนางานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12 - 13 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ

เผยแพร่ภายใต้ 2016 to 2019 May Conservative government
The Child Safeguarding in Thailand conference

การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการประสานงานและความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าด้านการคุ้มครองเด็กในประเทศอังกฤษและในประเทศไทยเมื่อต้องให้ความช่วยเหลือเด็กสัญชาติอังกฤษในประเทศไทย โดยสถานทูตฯได้เชิญนักสังคมสงเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษมาจัดการอบรมพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย นอกจากนี้ การประชุมได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ผ่านกรณีศึกษาต่างๆ มีเวทีสำหรับการหารือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณาข้อตกลงและความร่วมมือต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เข้าร่วมการประชุมที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในงานปกป้องคุ้มครองเด็กในระดับประเทศของไทย ได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์จากศูนย์ช่วยเหลือสังคม เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพัฒนาเอกชนต่างๆ อาทิ เจ้าหน้าที่จาก End Child Prostitution and Trafficking (ECPAT) ตัวแทนจาก International Social Services (ISS) เจ้าหน้าที่จาก Childline Thailand รวมถึงคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยของไทยผู้ผลิตนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ออกสู่ระบบงานปกป้องคุ้มครองเด็ก ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับในระยะยาวจากการประชุมคือการเผยแพร่ความรู้ออกไปสู่หน่วยงานของผู้เข้าร่วมประชุมและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของบริการ

มาร์กาเร็ต ทังก์ อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าวว่า

สถานทูตอังกฤษ จะต้องให้การดูแล และมั่นใจได้ว่าเด็กสัญชาติอังกฤษ รวมถึงเด็กสองสัญชาติที่ถือสัญชาติอังกฤษร่วม สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย แผนกกงสุลของสถานทูตฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกงสุลแก่เด็กๆกลุ่มดังกล่าวเป็นจำนวนมากกว่า 50 รายต่อปี อีกทั้งยังได้ให้บริการทางกงสุลแก่ชาวอังกฤษผู้ประสบปัญหาอื่นๆอีกมากกว่า 1,500 รายต่อปี ซึ่งในกรณีของผู้ประสบปัญหาอื่นๆนั้น อาจมีเด็กในการดูแลที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

การประชุมเพื่อการพัฒนางานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กในประเทศไทย เกิดขึ้นบนฐานของความร่วมมือที่สถานทูตฯได้รับจากผู้ให้บริการทางสวัสดิการสังคมของไทย เราหวังว่าการประชุมนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้นไปในการให้ความคุ้มครองเด็ก

ดรุณี มนัสวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม กล่าวว่า

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสถานทูตอังกฤษและศูนย์ช่วยเหลือสังคมนั้นถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีในการให้ความคุ้มครองเด็ก ยกตัวอย่างเช่น สถานทูตฯและศูนย์ช่วยเหลือสังคมได้จัดให้มีการประชุมทีมสหวิชาชีพเป็นประจำทุกเดือน โดยยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้งในการหารือ ซึ่งในฐานะผู้อำนวยการของศูนย์ช่วยเหลือสังคมขอยืนยันว่าเราต้องยึดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นหลัก รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นกลไกในการให้ความช่วยเหลือเด็กและมุ่งเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางของบริการ

ในแต่ละปีมีบุคคลสัญชาติอังกฤษมากกว่า 1 ล้านคน เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งกว่า 60,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศไทยระยะยาว จากรายงานของคณะทำงานอิสระของรัฐบาลอังกฤษพบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีเด็กสัญชาติอังกฤษได้รับบริการด้านการคุ้มครองเด็กในต่างแดน รัฐบาลอังกฤษได้ให้ความหมายของการคุ้มครองเด็กว่า คือการปกป้องคุ้มครองเด็กจากอันตราย การลดความเสี่ยงจากการถูกคุกคาม การส่งเสริมพัฒนาการด้านจิต-สังคม และการประกันว่าเด็กๆจะเติบโตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยตั้งแต่ปี 2559 มีเด็กอังกฤษได้รับความช่วยเหลือจากแผนกกงสุลของสถานทูตอังกฤษในประเทศไทยกว่า 132 ราย โดยจำนวน 30 รายนั้น เป็นเด็กที่ประสบปัญหาการถูกคุกคามอย่างรุนแรงและต้องการความช่วยเหลือในระยะยาว ในขณะที่อีก 85 รายเป็นกรณีเด็กถูกทำร้าย และอีกกว่า 24 ราย เป็นกรณีการลักพาตัวเด็กข้ามประเทศโดยบิดามารดา

การประชุมนี้เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมการขยายความร่วมมือและการดำรงความร่วมมือที่มีอยู่แล้วระหว่างแผนกกงสุล สถานทูตอังกฤษ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา แผนกกงสุลได้ทำงานร่วมกับผู้อำนวยการของศูนย์ช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอดในการพัฒนาการเข้าถึงบริการและการลดสาเหตุที่ก่อให้เกิดการทำร้ายเด็ก

นอกจากนี้ สถานทูตฯยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพัฒนาเอกชนอื่นๆอีก รวมถึงตำรวจ เจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ และครอบครัวเครือญาติที่สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กได้ หากนับรวมความร่วมมือที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด คงจะนับได้ว่า สถานทูตอังกฤษได้ทำงานร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์ไทยและผู้ให้บริการทางสวัสดิการสังคมของไทยมามากกว่า 3 ปี

ข้อมูลเพิ่มเติม

ECPAT เป็นองค์กรด้านสิทธิเด็ก ซึ่งทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายอื่นๆมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก หน่วยงานพัฒนาเอกชนด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ชุมชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กจากการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก ECPAT ให้ความช่วยเหลือเด็กเพื่อให้เด็กมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิศรีและปลอดภัยจากการคุกคามและการแสวงหาประโยชน์ นอกจากนี้ ECPAT ยังได้ทำงานด้านการรณรงค์เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และก่อให้เกิดงานเชิงป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ อีกทั้งยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กหรือแสวงหาประโยชน์จากเด็กอีกด้วย

Childlineให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานพัฒนาเอกชนในการให้ความคุ้มครองเด็ก ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก นอกจากนี้ Childline ยังมี “สายเด็ก” ซึ่งเป็นสายด่วนที่เด็กสามารถโทรแจ้งเพื่อขอความช่วยเหลือโดยตรงได้อย่างทันท่วงที

Updates to this page

เผยแพร่เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2018