รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เดินทางเยือนลาว กัมพูชา และไทย รวม 4 วัน
เฮเธอร์ วีลเลอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งดูแลภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะเดินทางเยือนลาว กัมพูชา และไทย เพื่อหารือเรื่องการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับภูมิภาค บทบาทของสตรี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเก็บกู้ทุ่นระเบิด
วันนี้ (16 กันยายน) เฮเธอร์ วีลเลอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เริ่มต้นการเดินทางเยือนภูมิภาคนี้ที่นครเวียงจันทน์ และจะพบกับ ฯพณฯ แสงเพ็ด ฮุ่งบุนยวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลาว เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมถึงการค้า และจะพบกับ ฯพณฯ บุนกอง สีหาวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลาว เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร-ลาว ในการต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพ หลังจากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมโครงการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นโครงการที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศและในประเทศลาว เพื่อกวาดล้างทุ่นระเบิดที่มีอยู่และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงของทุ่นระเบิดในภูมิภาค
โดยรัฐมนตรีมีภารกิจดังนี้
- พบกับสมาชิกรัฐสภาหญิงแห่งชาติลาวเพื่อหารือเกี่ยวกับการทำงานของ Westminster Foundation for Democracy ในการสนับสนุนสมัชชาแห่งชาติลาว
- เยี่ยมชมการใช้กีฬารักบี้ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของหญิงสาวและเด็กผู้หญิงในลาว
- พบปะกับนักศึกษาในนครเวียงจันทน์เพื่อหารือเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
ในวันอังคารที่ 17 กันยายน จะเดินทางไปยังกรุงพนมเปญ โดยเข้าพบฯพณฯ ปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา จากนั้น จะพบกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือในประเด็นสำคัญของความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างสหราชอาณาจักร-กัมพูชา ได้แก่ รัฐมนตรีอาวุโสดูแลรับผิดชอบเกี่ยวการเก็บกู้ทุ่นระเบิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีกิจการสตรี
หลังจากนั้นจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ และเข้าพบนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้จะหารือเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง และเยี่ยมชมดูภารกิจสำคัญของแผนกกงสุลของสถานทูตอังกฤษที่ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรไทยต่างๆในการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนและการประทุษร้ายทางเพศ
ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเป็นประเทศมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความแห้งแล้ง และอุทกภัย รัฐมนตรีประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะนำประเด็นที่หารือในประเทศลาว กัมพูชา และไทย ไปใช้เพื่อย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือว่าด้วยประเด็นปัญหาสภาพภูมิอากาศและความเป็นผู้นำของสหราชอาณาจักร รวมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP 26) ที่กลาสโกว์ในปี 2563
ก่อนที่จะเดินทางมาเยือนภูมิภาคนี้ เฮเธอร์ วีลเลอร์ รัฐมนตรีประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า
Brexit คือโอกาสของสหราชอาณาจักรที่จะคิดในระดับโลกอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ในฐานะรัฐมนตรีประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดิฉันต้องการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระหว่างการเยือนในครั้งนี้ ดิฉันจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรในการช่วยเหลือประชาชนแห่งลุ่มแม่น้ำโขง และหวังว่าจะได้พูดคุยเกี่ยวกับโอกาสทางการค้า บทบาทของสตรีในสังคม และความท้าทายระดับโลกเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายแอนโทนี สมิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิ Westminster Foundation for Democracy ในประเทศลาว กล่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานมูลนิธิฯ ดังนี้
การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ เป็นส่วนที่สำคัญในการดำเนินงานของเราทั่วโลก รวมถึงในประเทศลาว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงประสานร่วมกับสมัชชาแห่งชาติลาว เพื่อช่วยให้มีกฎหมายใหม่ๆ เช่น ร่างกฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศ ที่จะคุ้มครองสตรีได้ดีขิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับพันธสัญญาระหว่างประเทศของลาว
ข้อมูลภูมิหลัง
มีชาวกัมพูชากว่า 185,000 คน ได้รับประโยชน์จากโครงการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในประเทศกัมพูชา สนับสนุนจากสหราชอาณาจักร ซึ่งได้ช่วยเหลือให้มีการกวาดล้างพื้นที่กว่า 6 ล้านตารางเมตรในกัมพูชาที่มีทุ่นระเบิดตกค้าง มีผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงเกือบ 8,000 คน และมีผู้ได้รับความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากทุ่นระเบิดอีกกว่า 6,895 คน
Updates to this page
เผยแพร่เมื่อ 16 กันยายน 2019อัปเดตล่าสุดเมื่อ 18 กันยายน 2019 + show all updates
-
Added translation
-
First published.